ระบบ Partnership ทางออกแก้ไขวิกฤติอุตสาหกรรม อนิเมะ ที่สร้างรายได้ให้กับญี่ปุ่น!!
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าอุตสาหกรรม อนิเมะ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่ง นั้นประสบปัญหาหลายอย่างจนถึงขั้นเป็นวิกฤติที่จะต้องหาทางแก้ไขให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไป
โปรดิวเซอร์ Fukuhara ผู้สร้าง Kemono Friends เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่าแม้อุตสาหกรรมอนิเมชันญี่ปุ่นจะทำรายได้กว่า 2 ล้านล้านเยนในปี 2016 แต่ยังมีปัญหามากมายซ่อนอยู่ เช่น
1. รายได้ของอนิเมเตอร์ที่น้อยนิด ซึ่งรายได้ต่อเดือนของเหล่าอนิเมเตอร์รุ่นใหม่นั้น อยู่ที่ราว ๆ 60,000 – 70,000 ต่อเดือน (ถือเป็นระดับรายได้ที่จำต้องกระเบียดกระเสียรมาก ถ้าเทียบกับเงินเดือนชาวญี่ปุ่นทั่วไปที่เฉลี่ย 2 แสนเยน)
2. โครงสร้างที่ไม่เปิดช่องทางให้สตูดิโอได้เป็นเจ้าของผลงานที่ตนเองสร้าง หรือต่อให้ถือลิขสิทธิ์ในผลงานตัวเองอยู่ แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้งานได้
3. การขาดแคลนบุคลากรโปรดิวเซอร์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะกับโปรดิวเซอร์ที่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจ ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ติดตัวแดงกัน
4. การนำไปขายในจีน ที่กลายมาเป็นแหล่งรายได้ใหญ่สำคัญในปัจจุบัน ซึ่งมีข่าวลือว่าก่อนจะนำเข้าไปเผยแพร่ได้ต้องส่งให้คณะกรรมการควบคุมสื่อของจีนตรวจสอบก่อนอย่างน้อย 3 เดือนถึงจะออกอากาศได้ ป่านนั้นคงไม่มีใครรอดู เพราะคงโดนนำไปปล่อยเถื่อนในโลกออนไลน์เรียบร้อยก่อนแล้ว
5. เหล่าผู้จัดที่ควรจะมองเห็นว่าการนำเอาผลงานไปทำเป็นฉบับอนิเมชั่นนั้นเป็นเรื่องที่ดี กลับร่างสัญญาที่ไม่ยืดหยุ่นให้ผู้สร้างผลงานต้นฉบับได้รับค่าลิขสิทธิ์ในผลงานของเขาอย่างที่ควร
6. ค่าลิขสิทธิ์ในการวางจำหน่ายในต่างประเทศที่ต่ำแบบตายตัว โดยไม่มองถึงสถานการณ์ปัจจุบันของโลกว่าบริษัทส่วนใหญ่ล้วนทำการตกแต่งบัญชีรายรับทั้งสิ้น
7. แม้จำนวนผลงานจะเยอะขึ้นในภาพรวม แต่งานออริจินอลที่มีคุณภาพกลับน้อยลง จำนวนสต๊าฟที่ร่วมสร้างผลงานกำลังเป็นที่ขาดแคลน
▼ Kemono Friends
กระบวนการสร้างอนิเมะนั้นนับตั้งแต่กลางยุค 90 ที่มีการก่อตั้งคณะกรรมการการสร้างอนิเมชั่น ที่จะเป็นคนกลางในการผลิตและจัดจำหน่ายโดยจะออกใบสั่งงานให้กับสตูดิโอในการสร้างอนิเมชั่น พอทำเสร็จจะไม่ได้รับค่าลิขสิทธิ์หรือค่าอื่นๆ แล้วการรวมตัวของคณะกรรมการการสร้างอนิเมชั่น เป็นการรวมตัวของหลายองค์กรทำให้การผลิตหรือการจัดจำหน่ายค่อนข้างมีความล่าช้า ไม่เหมือนกับระบบ One Owner ที่จะตัดสินใจอย่างรวดเร็วเพราะผ่านการตัดสินใจเพียงแค่คนๆ เดียวเท่านั้น
จากปัญหาต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอมา คุณ Fukuhara ในฐานะของ “ผู้ช่วย” จึงได้นำเสนอระบบ Partnership ขึ้นมา โดยตั้งให้เหล่าสตูดิโออนิเมชั่นเป็นแกนหลัก โดยมี partner เป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศ อย่าง Amazon หรือ Netflix ซึ่งบริษัทผู้จัดจำหน่ายนั้นจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ตามสัดส่วนของต้นทุนที่ใช้สร้างผลงาน ทั้งนี้เพื่อให้สิทธิในตัวผลงานยังคงอยู่กับสตูดิโออนิเมชั่น โดยสตูดิโอจะเป็นผู้ขายสิทธิไปยังช่องทางธุรกิจอื่น ๆ ได้
▼ บริษัทผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศ Netflix
ถือว่าระบบ Partnership ที่จะช่วยแก้วิกฤติให้กับสตูดิโอผลิตอนิเมะที่จะทำงานผ่านแกนหลักที่จะมีความรวดเร็วและได้ผลกำไรตามสมควรที่จะได้ ต้องมารอดูกันต่อไปว่าระบบนี้จะทำให้อุตสาหกรรม อนิเมะ นั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนกัน และถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงมันจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงของวงการครั้งใหญ่อย่างแน่นอน
Cr.Akibatan
กดไลค์กันไว้ จะได้ไม่ตกข่าว
The post ระบบ Partnership ทางออกแก้วิกฤติของอุตสาหกรรม อนิเมะ !! appeared first on MThai Cartoon.